การประกบตัว Man to Man และ Zonal Marking ต่างกันอย่างไร

ยามใดก็ตามที่แฟนบอลมีโอกาสได้ดูทีมที่ตัวเองเชียร์ หรือได้ลุ้นสโมสรสุดที่รักแข่งกันผ่านทางหน้าจอทีวี  เรามักจะต้องทำใจกับการมีโอกาสที่ทีมรักจะเสียประตูเสมอ ๆ เพราะว่าอย่างที่ว่ากัน ฟุตบอลลูกกลม ๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ในท่ามกลางความเสียดายและความหงุดหงิดแต่ละครั้ง ที่บอลผ่านเข้าไปตุงตะข่าย จะตามด้วยเสียงสบถด่า ก่นว่าอย่างเผ็ดร้อนจากปากเราเองนั้น  มีบางกรณีที่เสียประตูที่พาหัวร้อนกว่าครั้งอื่น ๆ นั่นคือการเสียประตูแบบที่ไม่น่าเสีย เช่น เสียจากลูกเตะมุม หรือ ลูกนิ่งที่มีการประกับกันแบบหละหลวม และเหม่อลอย ขนาดที่ต้องตะโกนว่า “เฮ้ย ปล่อยให้โหม่งเข้าไปได้ยังไง” เกิดขึ้นตามมา ประเด็นที่เกิดขึ้นคือ การประกบตัวที่ผิดพลาดในเกมรับเกิดขึ้นได้อย่างไร และการประกับมีกี่เเบบ อะไรบ้าง

การประกับตัวแบบ Zonal Marking หรือคุมโซน

นี่เป็นหนึ่งในตำนานของการป้องกัน ตั้งแต่ยุคที่เริ่มมีฟุตบอลก็ว่าได้ การป้องกันแบบนี้ หมายถึง การมอบหมายให้นักเตะแต่ละคนได้รับพื้นที่ที่ตัวเองดูแล หรือ Zone จนครบพื้นที่ทั้งหมดในเขตโทษ หรือบริเวณอันตรายในฝั่งประตูตัวเอง นี่หมายความว่าผู้จัดการทีมหรือโค้ช จะแนะนำสั่งให้นักเตะต้องวิ่งเข้าสกัด หรือ แย่งโหม่งลูกบอล เมื่อไหร่ก็ตามที่บอลลอยเข้ามาในบริเวณที่ตัวเองดูแล  บางครั้งจะมีการแบ่ง พื้นที่ หรือ Zone ที่ว่าออกเป็น 2 หรือ 3 ส่วน เพื่อความง่ายต่อการคุม นอกจากนั้นในการป้องกันแบบ Zonal Marking กรณีลูกนิ่งหรือลูกตั้งเตะ เช่น เตะมุมหรือ ลูกกินเปล่านั้น จะมีการกำชับที่รัดกุมกว่าปกติ เพราะว่าพื้นที่ในเขตโทษแคบกว่า แต่มีนักเตะของทั้ง 2 ฝั่งรวมกระจุกกันมากกว่านั่นเอง

การประกับตัวแบบ Man Markingหรือคุมคม

การประกบตัวแบบ Man Marking หรือ คุมคนนั้น นักเตะจะโดนมอบหมายให้มีนักเตะฝั่งตรงข้าม 1 คน ไว้ประกบ แบบตัวต่อตัว เรียกได้ว่าไปไหนไปด้วยเลยทีเดียว การประกบแบบนี้เรียกได้ว่าต้องใช้เวลาตลอด 90 นาที ในการประกับตัวผู้เล่นคนนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นปกติ หรือ จังหวะการเล่นลูกนิ่ง การประกบตัวแบบนี้ ผู้จัดการหรือโค้ช จะวิเคราะห์การเล่นและความสามารถของนักเตะและคู่แข่งทั้ง 22 คน มาอย่างดีล่วงหน้า และนำเอาจุดแข็ง จุดอ่อน ของทั้งหมดมา คิดออกแบบการจับคู่ประกบตัวออกมา  ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตาม ที่ทีมเสียการครองบอลแล้ว นักเตะทั้งหมดจะเข้าวิ่งประจำตำแหน่ง คู่แข่งตัวเองที่ได้รับมอบหมาย พยายามจะตามประกบ และแย่งบอลหรือสกัดบอลทุกที่ ๆ ไป จนกว่าจะเอาชนะได้ หรือจะถอยกลับไปต่อเกมกันใหม่นั่นเอง

คงจะเห็นแล้วว่า การประกบทั้ง 2 แบบ ต่างกันตรงที่แบบหนึ่งต้องใช้พลังงานตลอดทั้งเกม และต้องใช้ความอึด ความแกร่งเข้าสู้ด้วย ทั้งพละกำลังและขนาดของนักเตะเข้าใส่ตลอดเวลา ในขณะที่อีกแบบจะต้องใช้ความฉลาด ความมีวินัย และความไวของการตัดสินใจของนักเตะในทีมนั่นเอง