พายเรือวนในอ่างฉบับเอฟเวอร์ตัน

                “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” เอฟเวอร์ตันคือหนึ่งในทีมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานของโลกฟุตบอล เป็นทีมฟุตบอลเก่าแก่ของอังกฤษที่มีแฟนบอลทั่วโลกอยู่ไม่น้อยแม้แต่เมืองไทยเองก็ตาม เดอะ บลูเป็นฉายาที่พวกเขาถูกเรียกมาก่อนเชลซีด้วยซ้ำนั่นบ่งบอกได้ดีว่าเอฟเวอร์ตันเป็นทีมที่อยู่มาก่อนแถมยังอยู่บนลีกสูงสุดของอังกฤษมานานแสนนาน แต่การอยู่มานานกว่าใช่ว่าจะทำให้พวกเขาพุ่งชนความสำเร็จได้เยอะกว่า กลับกันในฟุตบอลยุคใหม่ทีมมาทีหลังอย่างเชลซีหรือแมนฯซิตี้ยังมีความสำเร็จเป็นมรรคผลเยอะกว่าเสียอีก

หนึ่งในปัญหาที่ทำให้เอฟเวอร์ตันไม่ประสบความสำเร็จในช่วงยี่สิบปีหลังคือการบริหารจัดการสโมสรที่ขาดความทะเยอทะยาน ทั้งที่พวกเขามีสนามแข่งที่เพียบพร้อมความจุเหยียบสี่หมื่นที่นั่ง อะคาเดมี่ฟูมฟักนักเตะเยาวชนก็ชั้นเยี่ยม แต่เลือกที่จะใช้แนวทางอนุรักษ์นิยมเช่นการเฟ้นหานักเตะฝีเท้าดีในประเทศ การปั้นดาวรุ่งขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ ใช้เงินซื้อตัวนักเตะอย่างรัดกุม ซึ่งในฟุตบอลสมัยใหม่แนวทางนั้น “ไม่ทันกิน” ส่งผลให้บรรดาดาวดังทนไม่ได้จนต้องย้ายออกเพื่อมองหาความสำเร็จ ทั้งเวย์น รูนีย์ นิกิช่า เยลาวิช โรเมลู ลูกากู จอห์น สโตน และล่าสุด รอส บาร์คลีย์ ความไม่ทะเยอทะยานนั้นทำให้เอฟเวอร์ตันห่างเหินความสำเร็จร่วมยี่สิบกว่าปี ในขณะนั้นทีมระดับเดียวกันก็แซงหน้าไป ทีมที่เพิ่งขึ้นมาจากลีกล่างก็แสดงความทะเยอทะยานมากกว่าเสียอีก เอฟเวอร์ตัน จึงเป็นทีมที่มีสถานะกลาง ๆ อยู่รอดไปวัน ๆ

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อ ฟาร์ฮัด โมชิริ มหาเศรษฐีชาวอิหร่านเข้ามาเทคโอเวอร์พร้อมขันอาสาพาเอฟเวอร์ตันกลับสู่ความยิ่งใหญ่ ตอนนั้นเองที่ทำให้บรรดาเอเวอร์โตเนี่ยนพอได้ใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง มหาเศรษฐีผู้นี้ไม่ได้มาเล่น ๆ หรือแค่สัญญาลมปาก เขาหว่านเม็ดเงินลงบนตลาดซื้อขายนักเตะราวกับผลิตเงินเองได้

กิลฟี่ ซิเกิร์ดสัน 45 ล้านปอนด์

ริชาร์ลิสัน 35 ล้านปอนด์

เยอร์รี่ มีน่า 27 ล้านปอนด์

จอร์แดน พิคฟอร์ด 26 ล้านปอนด์

ไมเคิ่ล คีน 26 ล้านปอนด์

ดาวี่ คลาสเซ่น 24 ล้านปอนด์

ธีโอ วัลค็อต 20 ล้านปอนด์

เช็ง โทซุน 20 ล้านปอนด์

รายชื่อเหล่านี้คือเม็ดเงินร้อยกว่าล้านที่เอฟเวอร์ตันช็อปปิ้งในตลาดซื้อขายนักเตะเพียงสองฤดูกาลเพื่อสานฝันดังกล่าวยังไม่นับตัวปลีกย่อยที่ราคารวมกันเกือบห้าสิบล้านด้วย แต่ถึงจะใช้เม็ดเงินไปมากขนาดนั้นพวกเขาก็ไม่ได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ นั่นคือการจบอันดับหนึ่งในสี่เพื่อโอกาสไปเล่นในรายการยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก แถมยังเปลี่ยนผู้จัดการทีมแทบทุกปีตั้งแต่โรนัลด์ คูมัน แซม อัลลาไดซ์ มาจนถึงผู้จัดการทีมคนปัจจุบัน มาร์โก ซิลวา ซึ่งก็เหมือนจะต้องเปลี่ยนเร็ว ๆ นี้อีกแล้ว จากบอลชิ่งสู่บอลอุดเน้นผลมาจนถึงบอลบุกจนไม่เอาหลังบ้าน สไตล์ฟุตบอลของเอฟเวอร์ตันเปลี่ยนไปทุกปีจนไม่เหลือเค้าเดิม ถ้ามองให้ดีเม็ดเงินมหาศาลที่เอฟเวอร์ตันลงทุนไปกับทั้งการซื้อตัวนักเตะและการเปลี่ยนตัวผู้จัดการทีม พวกเขาได้ตัวนักเตะเกรดรองและผู้จัดการทีมมือกลาง ๆ เท่านั้นเอง การซื้อตัวแบบหว่านแหไม่ได้ผล สไตล์ฟุตบอลที่เปลี่ยนไปไม่เพียงพอให้ทีมทอฟฟี่ไปไกลจากจุดเดิมเลย ต่างจากวัตฟอร์ดและบอร์นมัธที่ใช้เงินน้อยกว่าแต่ได้นักเตะที่เหมาะกับทีมทั้งยังคงเอกลักษณ์ฟุตบอลใจสู้ ทำให้ดูมีแววคั่วอันดับครึ่งบนของตารางไปจนถึงอันดับบอลยุโรปได้มากกว่าอีก

ด้วยการนี้ผู้บริหารเอฟเวอร์ตันอาจต้องเปลี่ยนความคิดในการจัดการ หาผู้จัดการทีมที่เชื่อมือได้เพื่อฝากผีฝากไข้ในระยะยาวและเลือกซื้อนักเตะที่เหมาะกับสไตล์ของทีมมากกว่าเปลี่ยนสไตล์ของทีมไปเรื่อย ๆ เพราะบางครั้งการใช้เงินจำนวนมากในธุรกิจฟุตบอลก็ไม่ได้แปลว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป และถ้ายังขบประเด็นนี้ไม่แตกเอฟเวอร์ตันก็จะพายเรือวนอยู่ในอ่างนี้ไม่จบไม่สิ้นเสียที